Home » » ล่าหนุ่มบุรีรัมย์ ต้องสงสัยติด 'เมอร์ส' บินมากับผู้ป่วยโอมาน

ล่าหนุ่มบุรีรัมย์ ต้องสงสัยติด 'เมอร์ส' บินมากับผู้ป่วยโอมาน

Written By Oun Liza on Jun 20, 2015 | 11:41 AM

ลุ้นผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี อีก 1 ราย เป็นชาวอุดรฯ หลังกลับจากจอร์แดน ขณะที่ สธ.เผยอาการผู้ป่วยรายแรกชาวโอมาน ยังทรงตัว สั่งเฝ้าระวังเข้มผู้ใกล้ชิด 141 ราย พร้อมจับตาญาติ 2 รายที่มีอาการไข้-ไอ ชี้ส่งเชื้อตรวจแล้ว พร้อมเร่งควานหาตัวผู้โดยสารชาวไทยมีภูมิลำเนา จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมาเข้ากระบวนการเฝ้าระวังโรค รุกประสาน 37 สายการบินให้ความรู้ผู้โดยสารก่อนถึงไทย ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเร่งรัฐบาลหามาตรการรองรับ กังวลกระทบต่อเป้าหมายดึงต่างชาติเที่ยวไทย

หลังจากไทยประกาศพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี เป็นรายแรก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นชายชาวโอมาน อายุ 75 ปี ที่เดินทางมาจากตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้สื่อทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเฝ้าติดตามข่าวสารและมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อดังกล่าวของไทยอย่างใจจดใจจ่อ

ลูกชายผู้ป่วยเริ่มไอ–มีไข้
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 19 มิ.ย.ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าอาการผู้ป่วยคนดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากนักข่าวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 ชีวิต ที่มารอฟังข่าว ส่งผลให้ สธ.ต้องย้ายที่แถลงข่าวจากเดิมที่จะแถลงบนชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัด สธ.มาเป็นด้านล่างอาคาร สธ.ที่มีขนาดใหญ่กว่าแทน โดยเวลา 12.30 น. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเล็กน้อย ไม่มีอาการทรุด ส่วนการรักษายังเป็นไปแบบประคับ ประคองและรักษาตามอาการ เนื่องจากยังไม่มียาและวัคซีนที่ใช้ในการรักษา สำหรับครอบครัวของผู้ป่วยนั้นขณะนี้พบว่าลูกชายมี อาการไอ ส่วนน้องชายของคนไข้มีอาการไข้ต่ำๆ ซึ่งขณะนี้ได้นำสารคัดหลั่งส่งไปตรวจแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจ

ตามหาอีก 1 รายนั่งติดผู้ป่วย
นพ.รัชตะกล่าวอีกว่า สำหรับคนที่ใกล้ชิดและต้องเฝ้าติดตามมีทั้งสิ้น 141 ราย ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเสี่ยงสูงที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยต้องกักตัวและเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลทั้งหมด 66 ราย แบ่งเป็นญาติของผู้ป่วย 3 ราย กลุ่มผู้โดยสารในสายการบินสองแถวหน้าและสองแถวหลัง 16 ราย ซึ่งขณะนี้ได้รับรายชื่อและติดต่อเฝ้าดูอาการอยู่ โดยเป็นชาวต่างชาติ 15 ราย ส่วนอีก 1 ราย เป็นคนไทยมีภูมิลำเนาอยู่ ที่ จ.บุรีรัมย์ แต่ขณะนี้ยังติดตามตัวชาวบุรีรัมย์รายนี้ไม่ได้ และกลุ่มเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชน 47 ราย โดยในกลุ่มเสี่ยงสูงนั้นมีการติดตามและดูอาการในโรงพยาบาลอย่างต่ำ 14 วันแล้ว และ 2.กลุ่มเสี่ยงน้อยที่ต้องติดตามอาการ แต่ไม่ต้องกักตัว 75 ราย แบ่งเป็นผู้โดยสารสายการบินเดียวกับผู้ป่วย 67 ราย คนขับแท็กซี่ 2 ราย และพนักงานโรงแรม 6 ราย

ขอ 37 การบินช่วยคัดกรอง
นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ขณะนี้ สธ.ได้ติดต่อกับสายการบินที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคเมอร์ส จำนวน 37 สายการบิน ว่าไทยขอความร่วมมือให้ช่วยคัดกรองผู้เดินทางพร้อมให้ความรู้กับผู้โดยสารทุกราย พร้อมให้แจกคู่มือคำแนะนำด้านสุขภาพสำหรับผู้เดินทางระหว่างประเทศให้กับผู้โดยสารทุกราย และให้แนะนำว่าหากมีอาการไข้ ไอ ก็ขอให้รีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้ยังได้มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ช่วยกันให้ความรู้และช่วยกันสกัดโรคอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการตรวจผู้ต้องสงสัยป่วยเมอร์ส ที่ จ.เชียงใหม่นั้น เบื้องต้นไม่พบเชื้อ
ผู้ป่วยยังหายใจเองไม่ได้

ด้าน พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า จากการรับตัวชายชาวโอมาน ที่ป่วยเป็นโรคเมอร์ส มารักษาที่สถาบันฯ ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.นั้น ล่าสุดผู้ป่วยยังมีอาการปอดบวม ไม่มีไข้ แต่หายใจเองไม่ได้ ยังต้องให้ออกซิเจนอยู่ และเนื่องจากผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ และมีอาการรุนแรง ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ ส่วนครอบครัวของผู้ป่วยอีก 3 คนนั้นถือเป็นผู้สัมผัสโรคใกล้ชิดได้ส่งตัวให้อยู่ในห้องแยกโรคของสถาบันบำราศฯ แล้วเช่นกัน และขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ประสานไปยังสถานทูตโอมาน ให้ส่งล่ามมาช่วยแปลภาษาให้ ซึ่งแม้ว่าครอบครัวนี้จะพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย แต่ก็อยากจะพูดภาษาประจำชาติ ส่วนสภาพจิตใจถือว่าดีขึ้นมาก

คนมั่นใจมารักษาตามปกติ
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศ ที่สถาบันบำราศฯ ยังคงเปิดให้บริการประชาชนตามปกติ แต่ทางสถาบันฯมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเบื้องต้น ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและบุคลากรของสถาบันฯ ให้มีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีการแจกหน้ากากอนามัย ตั้งจุดเจลล้างมือให้ประชาชนที่มาใช้บริการ ขณะที่บริเวณหน้าห้องผู้ป่วยบริเวณอาคาร 3 ชั้น 2 ซึ่งบริเวณนั้นมีทั้งหมด 5 ห้องยังคงเงียบสงบ เนื่องจากแพทย์และเจ้าหน้าที่จะเข้ามาดูแลผู้ป่วยเป็นบางเวลาเท่านั้น ซึ่งเมื่อสอบถามผู้มารับบริการทางการแพทย์ต่างยืนยันมั่นใจในระบบคัดแยกผู้ป่วย เพราะสถาบันบำราศฯไม่ได้รับผู้ป่วยโรคนี้เป็นโรคแรก ก่อนหน้านี้ยังมีการรับผู้ป่วยทั้ง ไข้หวัดนก ซาร์ส และไข้หวัด 2009 มาดูแลแล้ว

รพ.บำรุงราษฎร์เฝ้าระวังเต็มที่
ต่อมาเวลา 14.30 น.ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ คณะแพทย์ รพ.บำรุงราษฎร์ แถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยไวรัสเมอร์สรายแรกในประเทศไทย โดย นพ.ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ รองประธานกรรมการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชี้แจงว่า ผู้ป่วยชาวตะวันออกกลาง อายุ 75 ปี รายนี้ เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ด้วยตนเอง ในวันที่ 15 มิ.ย.ช่วงเวลา 21.45 น. ด้วยอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ทางโรงพยาบาลจึงตรวจคัดกรอง และซักประวัติตามมาตรฐาน และเนื่องจากพบว่าอาการที่พบอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงคัดแยกผู้ป่วยเข้าห้องแยกโรคความดันลบ ซึ่งเป็นห้องสำหรับผู้ต้องสงสัยติดเชื้อรุนแรง เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ ขณะเดียวกัน ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ให้เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วยตั้งแต่ต้น และส่งตัวอย่างเชื้อไปตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ รวม 4 ครั้ง แจ้งผลกลับมาว่าพบเชื้อไวรัสเมอร์ส จากนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจึงรับตัวไปรักษาต่อยังสถาบันบำราศนราดูร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ยืนยันขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยเมอร์สในโรงพยาบาลแล้ว และยังไม่พบผู้ป่วยต้องสงสัยรายอื่นๆ ที่เข้ามารักษาตัวเพิ่ม ขณะเดียวกัน ทางโรงพยาบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับกรณีดังกล่าว จึงได้มีมาตรการดูแลและคัดกรองให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย จำนวน 58 ราย เพื่อสังเกตอาการรวม 14 วัน และจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.ทุกคนอยู่ในอาการปกติ ไม่มีใครป่วย นอกจากนี้ ยังได้มีมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงขั้นสูงสุดตลอดเวลา

ยืนยันแยกผู้ป่วยตั้งแต่ต้น
ด้าน ผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ รพ.บำรุงราษฎร กล่าวว่า คนไข้ได้เข้ามาถึงห้องฉุกเฉิน ด้วยรถแท็กซี่ มีอาการที่หนักมากตั้งแต่ต้น ทางเจ้าหน้าที่จึงให้คนไข้สวมหน้ากากป้องกันโรคเป็นอันดับแรก และมีการคัดกรองตั้งแต่ต้น โดยไม่มีการปะปนกับคนไข้รายอื่นๆ จากนั้นได้เจรจากับคนไข้เพื่อให้เข้าห้องแยกโรคความดันลบ ซึ่งในช่วงแรกคนไข้และญาติปฏิเสธ แต่ทางโรงพยาบาลพยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับเหตุผลของการป้องกันการกระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยใกล้เคียง จนคนไข้ยอมรับการคัดแยก ซึ่งโรงพยาบาลยืนยันว่าไม่มีคนไข้รายอื่นๆสัมผัสและเข้า
 ใกล้ผู้ป่วยรายนี้เลย

พบปอดอักเสบ–หัวใจวาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนไข้เข้ามารับการรักษาเบื้องต้นด้วยความเสี่ยงที่มาจากโรคทางเดินหายใจ หรือโรคประจำตัว เพราะทาง สธ.ชี้แจงว่า คนไข้เข้ามารักษาโรคหัวใจ ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวว่า คนไข้เข้ามามีอาการหอบเหนื่อย และไอ ในเบื้องต้นตอนเข้าห้องฉุกเฉิน ได้รายงานว่าไม่มีไข้ เราจึงได้วัดไข้ในวันนั้น ก็ไม่พบ จากนั้น จึงได้เอกซเรย์ปอด พบรอยรั่วผิดปกติของค่า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เป็นปอดอักเสบร่วมกับหัวใจวาย ซึ่งยังแยกไม่ออกว่าเป็นทั้ง 2 กรณีหรือไม่ แต่เนื่องจากคนไข้มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เราจึงมีข้อสงสัยไว้ก่อน และหลังรับตัวเข้าไปในห้องแยกแล้ว จากนั้นวัดไข้ 2 ครั้ง พบคนไข้มีไข้สูงถึง 38 อาศา ในวันที่ 17 มิ.ย. และสุดท้ายก็พบเชื้อไวรัสเมอร์ส

เชียงใหม่พบผู้สงสัยติดเชื้อ
ขณะที่วันเดียวกัน มีรายงานว่าพบผู้ต้องสงสัยอาจติดเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควีอีก 2 ราย โดยรายแรก ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า พบผู้ต้องสงสัยป่วยติดเชื้อไวรัสเมอร์สเป็นชาย อายุประมาณ 20 ปีในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ หลังมีอาการไข้สูง ไอ หนาวสั่น เจ็บคอและมีเสมหะ เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ขณะนี้ถูกกักกันเฝ้าดูอาการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งแพทย์กำลังวินิจฉัยโรคเพื่อยืนยัน คาดว่าน่าจะทราบผลตรวจในเร็วๆนี้ ขณะที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ต้องสงสัยป่วยติดเชื้อ 2-3 คน เนื่องจากมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสและมีประวัติเพิ่งกลับมาจากเกาหลีใต้ รวมทั้งมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจแต่ผลจากการวินิจฉัยโรคไม่พบว่าติดเชื้อไวรัสเมอร์สแต่อย่างใดและส่งตัวกลับบ้านแล้ว


กักแรงงานไทยจากจอร์แดน
ส่วนที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี นพ.สมิต ประสันนาการ สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นพ.ชุติเดช ตาบองค์รักษ์ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี และ นพ.เอกชัย เทียนสุคนธ์ ประธานคณะกรรมการงานป้องกันควบคุมการติดเชื้อ ร่วมกันแถลงข่าวการป้องกันและควบคุมไวรัสเมอร์สในเขตจังหวัดอุดรธานีว่า มาตรการเฝ้าระวังที่สนามบินอุดรธานียังไม่มีการบินตรงหรือเช่าเหมาลำมาลงที่สนามบินอุดรธานี หน่วยคัดกรองผู้ป่วยที่สนามบินสุวรรณภูมิจะรายงานผู้ต้องสงสัยที่เดินทางจากประเทศตะวันออกกลางและประเทศเกาหลีใต้ ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทราบ ถ้ามีผู้ต้องสงสัยโดยเฉพาะประเทศที่เชื้อไวรัสเมอร์สกำลังระบาด ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ได้รับการ ประสานจากหน่วยตรวจโรคจุดคัดครองผู้สนามบินสุวรรณภูมิว่า มีผู้ต้องสงสัยเป็นแรงงานไทยเดินทางจากประเทศจอร์แดนกลับบ้านที่ จ.อุดรธานี เลยต้องกักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-20 มิ.ย.ขณะนี้ยังไม่มีไข้ ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ

ญาติผู้ป่วยต่างชาติไม่ติดเชื้อ
จากนั้นในช่วงเย็น นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการตรวจหาเชื้อในญาติของผู้ป่วยชายชาวต่างชาติอายุ 75 ปี ที่เดินทางมาจากทางตะวันออกกลางและป่วยด้วยโรคเมอร์สนั้น ผลการตรวจจากห้องแล็บ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ญาติทั้ง 3 ราย มี 2 ราย ที่ผลออกมาว่าไม่พบเชื้อ ส่วนอีก 1 ราย ผลไม่ยืนยันว่าพบหรือไม่พบเชื้อ ซึ่งในกรณีนี้อาจเกิดจากเชื้อยังมีน้อยอยู่ หรือไม่มีเลยก็เป็นได้ ดังนั้น ทั้ง 3 รายทางกระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นที่จะต้องเก็บตรวจเชื้อทั้ง 3 ราย ตรวจอีกเป็นเวลา 1-2 วันและยังทำการกักตัวไว้ในห้องแยกโรคเหมือนเดิมเพื่อความปลอดภัย
หนุ่มเชียงใหม่แค่เป็นหวัด

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัยว่าจะป่วยด้วยเชื้อไวรัสเมอร์ส อายุประมาณ 20 ปี พักอาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลี มีอาการไข้สูง ไอ หนาวสั่น เจ็บคอ มีเสมหะ ว่าผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการในรายดังกล่าวได้ออกมาในช่วงเวลา 13.00 น. ของวันที่ 19 มิ.ย.แล้ว ว่าพบเชื้อหวัดสายพันธุ์หนึ่งชื่อ ไรโนไวรัส ซึ่งการเก็บเชื้อในรายดังกล่าวเป็นเชื้อที่เก็บตามมาตรฐานองค์การอนามัย โลก ซึ่งโอกาสที่จะพบเชื้อหลายสายพันธุ์ในคนเดียวกันนั้น ถือว่ามีต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรฐานอยู่แล้ว

สุวรรณภูมิตั้งเครื่องตรวจเพิ่ม
อย่างไรก็ดี เพื่อความมั่นใจในมาตรฐานเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าว ท่าอากาศยานทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง ได้เพิ่มจุดคัดกรอง โดยนายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิด เผยหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส โดยได้ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน เพิ่มอีก 1 จุด บริเวณอาคารเทียบเครื่องบินเอฟ ทำให้ปัจจุบันสุวรรณภูมิมีจุดคัดกรองผู้โดยสารแล้ว 4 จุด ได้แก่ บริเวณเคาน์เตอร์ด่านควบคุมโรคติดต่อ อาคารเทียบเครื่องบิน อี ก่อนทางเข้าจุดตรวจผู้โดยสารขาเข้า โซนตะวันออกและตะวันตก และบริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน เอฟ รวมถึงจะมีการตั้งค่าเครื่องเทอร์โมสแกน ให้สามารถจับอุณหภูมิร่างกายได้ลดลงจากเดิม 37 องศา เป็น 36.5 องศา ขณะเดียวกันยังได้จัดหลุมจอดไว้รองรับเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศสุ่มเสี่ยง 7 ประเทศแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศโอมาน การ์ตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน จอร์แดน และประเทศแถบเอเชีย คือ ประเทศเกาหลีใต้ ไว้ที่หลุมจอดประชิดอาคารอีและเอฟเป็นการเฉพาะอีกด้วย

บินตรงภูเก็ต-กระบี่ยังปกติ
สำหรับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผวจ.ภูเก็ต นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายวีระ เกิดศิริมงคล นอภ.ถลาง นพ.อานนท์ แก้วบำรุง ผอ.รพ.ถลาง นายอำนวย สาระชาติ รอง ผอ.ทอท.ภูเก็ตและคณะร่วมตรวจสอบบริเวณจุดคัดกรองโรคติดเชื้อเมอร์สโดยทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วได้สาธิตการใช้เครื่องอินฟราเรดเทอโมสแกนมาทำการตรวจวัดอุณหภูมิความร้อนของร่างกายผู้โดยสารที่บินตรงจากเมืองเสี่ยงในแถบตะวันออกกลางและประเทศเกาหลีใต้ แต่ละวันท่าอากาศยานภูเก็ตจะมีเที่ยวบินตรงจากเมืองเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังจำนวน 5 เที่ยวบิน ได้แก่ โดฮา-ภูเก็ต 1 เที่ยวบิน อาบูดาบี-ภูเก็ต 1 เที่ยวบิน ดูไบ-ภูเก็ต 1 เที่ยวบินและอินชอน-ภูเก็ต 2 เที่ยวบิน ซึ่งมีผู้โดยสารจากกลุ่มประเทศต้นทางเข้ามาวันละประมาณ 1,000 คน ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 9-18 มิ.ย.ที่ผ่านมามีเที่ยวบินจากเมืองเสี่ยงดังกล่าวเข้ายังท่าอากาศยานภูเก็ตรวม 50 เที่ยวบิน 9,677 ราย จากการคัดกรองพบผลปกติ เช่นเดียวกับที่ สนามบินนานาชาติกระบี่ นพ.พนัส โสภณพงศ์ สาธารณสุขจังหวัดกระบี่กล่าวว่าได้จัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปประจำท่าอากาศยานฯ เพื่อตรวจสอบผู้โดยสารโดยเฉพาะเครื่องบินตรงมาจากประเทศจีนวันละประมาณ 8-10 เที่ยวบินหรือประมาณเดือนละประมาณ 3 หมื่นคน

“อูฐ” ไทยปลอด “โรคเมอร์ส”
นอกจากนี้ นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) ในประเทศไทย ว่าที่ผ่านมากรมอุทยานฯ เฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 รวมทั้งโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าอื่นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยทำแผนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสัตว์ที่อาจเป็นแหล่งของโรคเป็นระยะๆ เช่น ค้างคาว นกอพยพ เป็นต้น ซึ่งยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคจากสัตว์ป่าแต่อย่างใด และจากนี้ไปก็จะยังคงมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับนายสัตวแพทย์วิศิษฏ์ วิชาศิลป์ รอง ผอ.องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์ฯ คัดกรองโรคของสัตว์ในสวนสัตว์ตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้มีการระบาดของโรคเมอร์ส ที่มีอูฐเป็นแหล่งของโรค ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีอูฐในสวนสัตว์มีผลบวกต่อเชื้อดังกล่าว ทั้งนี้ องค์การสวนสัตว์ฯไม่ได้นำเข้าอูฐจากประเทศในตะวันออกกลางแต่นำเข้าจากจีนและออสเตรเลีย ประกอบกับอูฐในประเทศไทยขยายพันธุ์จนเพียงพอและไม่จำเป็นต้องนำเข้ามาอีก
 
ให้ บ.ทัวร์แจ้งข้อมูล ททท.
ในส่วนความกังวลของภาคธุรกิจท่องเที่ยว หลังไทยพบผู้ติดเชื้อเมอร์สนั้น ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าขณะนี้กระทรวงฯเฝ้าระวังปัญหาไวรัสเมอร์สร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด โดยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จะประชุมในวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย.นี้ ทั้งสรุปสถานการณ์และหารือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่ในเบื้องต้นสั่งการให้นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรียกบริษัททัวร์ที่นำชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา ส่งใบรายการนำเที่ยวทั้งหมดมาให้ตรวจสอบ เพื่อให้ทราบข้อมูลพื้นฐานว่าเดินทางไปอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวใดบ้าง และเข้าพักที่โรงแรมใด ถือเป็นการเฝ้าระวังล่วงหน้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจะได้เข้าไปดูแลและตรวจสอบได้ทัน พร้อมแจ้งไปยังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ติดตามผลกระทบด้านตลาดท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด และดูปฏิกิริยาจากประเทศต่างๆ ที่มีต่อข่าวสารของไวรัสเมอร์สในไทยว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาวางมาตรการรับมือที่เหมาะสม แต่จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ยังมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการรับมือเพื่อไม่ให้แพร่กระจายได้

ผู้ประกอบการห่วงเชื้อลุกลาม
ด้านนายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า กังวลกับการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สในไทยรายแรก เนื่องจากมีตัวอย่างผลกระทบด้านท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นกับเกาหลีใต้ให้เห็นมาแล้ว และเป็นห่วงว่าอาจเป็นปัจจัยกระทบกับเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวที่ตั้งไว้ 2.2 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยประเด็นสำคัญคือ ต้องดูพัฒนาการของเหตุการณ์แพร่ระบาดไวรัสใน 2 สัปดาห์ต่อไปนี้ ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง และหากจะไม่ให้กระทบต่อท่องเที่ยวเลย ก็ควรจะเร่งแก้ปัญหาให้หมดจากไทยไปในกรอบเวลา 2 สัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับนางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ กรรมการฝ่ายการตลาด สมาคมโรงแรมไทย หรือทีเอชเอ เปิดเผยว่า ทางสมาคมได้ส่งหนังสือรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สไปยังสมาชิกเพื่อให้วางมาตรการดูแลในโรงแรมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกเจลล้างมือ ตลอดจนดูแลรักษาความสะอาดตามมาตรฐาน พร้อมเตรียมประชุมสมาชิกเพื่อถกแนวทางการรับมือในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

เกาหลีใต้เริ่มคุมการระบาดได้
สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสเมอร์ส-โควี ในเกาหลีใต้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ว่า กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้แถลงว่า การแพร่ระบาดของโรคอยู่ในระดับคงที่แล้ว หลังพบผู้เสียชีวิตเพิ่มเพียง 1 ราย รวมเป็น 24 ราย และพบผู้ติดเชื้ออีก 1 ราย คือชายวัย 68 ปีที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลางเมื่อต้นเดือน พ.ค. รวมเป็น 166 ราย แต่ยังมีผู้ถูกกักเพื่อรอดูอาการอยู่อีก 5,930 คน โดยทางการจะยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมไม่ให้มีการระบาดเพิ่ม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กำลังพยายามติดต่อผู้เดินทางมาโรงพยาบาล “ซัมซุง เมดิคัล เซ็นเตอร์” ในกรุงโซล ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค.และ 2-10 มิ.ย. ที่มีอยู่เกือบ 42,000 คน เพื่อตรวจ สอบว่าได้รับเชื้อหรือไม่ เพราะการระบาดส่วนใหญ่เกิดในโรงพยาบาลแห่งนี้หรือประมาณครึ่งหนึ่งของยอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันทั้งหมด ทั้งนี้ นางมากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงในกรุงโซลว่า การควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสเมอร์ส-โควีในเกาหลีใต้กำลังเป็นไปด้วยดี แม้จะใช้เวลานานกว่าจะรับมือกับสถานการณ์ได้ และยังมีข่าวด้านบวก เมื่อนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควีจะไม่กลายพันธุ์
source:https://www.thairath.co.th/content/506281

คุณคิดยังไงเกี่ยวกับข้อมูลนี้

...

Popular Posts

Powered by Blogger.